กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว! สิทธิด้านประกันชีวิต และการเงินที่คุณควรรู้
สาระสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียม :
● กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้แล้ว บุคคล 2 คน ที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม สามารถทำการหมั้นและจดทะเบียนสมรสได้ และเมื่อมีการสมรสกันก็มีสิทธิหน้าที่ในฐานะที่เป็น “คู่สมรส” ตามกฎหมายเหมือนคู่สมรสที่เป็นชาย-หญิง
● กฎหมายแก้ไขใหม่ให้คู่สมรสมีสิทธิ รับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ ฟ้องหย่า ฟ้องชู้ได้ไม่จำกัดเพศ จัดการสินสมรสร่วมกันได้ มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม รับประโยชน์ตามสิทธิจากประกันสังคมในฐานะคู่สมรส ให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาลคู่สมรสได้
● สำหรับการทำประกันชีวิต ไม่จำเป็นต้องยื่นเอกสารให้ยุ่งยากมากมาย ไม่ต้องระบุว่าเป็นสามี ภริยาอีกต่อไป แค่ระบุให้คู่สมรสเป็นผู้รับประโยชน์ก็ได้แล้ว

กฎหมายสมรสเท่าเทียม* (Marriage Equality Law) ได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไทย โดยสาระสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือกฎหมายสมรสเพศเดียวกันนี้ คือการรองรับให้บุคคลไม่ว่าเพศใดสามารถทำการหมั้นและสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
*พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567
สมรสเท่าเทียม ดียังไง? ประโยชน์จากสมรสเท่าเทียมกระทบต่อสิทธิด้านประกันชีวิตและการเงิน อย่างไร?
(หมายเหตุ การสมรสของผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรืออายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องได้รับความยินยอมจากบุพการีหรือผู้รับบุตรบุญธรรมก่อน)
หลังจดทะเบียนสมรสแล้ว ในกฎหมายสมรสเท่าเทียมรับรองสิทธิคู่สมรสเพศเดียวกันในไทยด้านใด และมีประโยชน์จากสมรสเท่าเทียมอย่างไรบ้าง?
สิทธิด้านครอบครัว
● รับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ คู่สมรสไม่ว่าเพศใด สามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ โดยอ้างอิงหลักการจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และมีอายุมากกว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี ถ้าผู้รับบุตรบุญธรรมหรือบุตรบุญธรรมมีคู่สมรส จะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน
● มีสิทธิใช้นามสกุลของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ หรือใช้นามสกุลของคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นชื่อกลาง (ถ้าได้รับความยินยอม) หรือจะใช้นามสกุลเดิมของตัวเองก็ได้
● ฟ้องหย่า ฟ้องชู้ เรียกค่าทดแทนได้ไม่จำกัดเพศ การหย่าต้องเกิดจากความสมัครใจของคู่สมรสเองหรือเกิดจากคำพิพากษา ซึ่งจะต้องมีเหตุที่สามารถฟ้องหย่าได้ ขณะที่การฟ้องชู้ จากเดิมที่กำหนดสิทธิการเรียกค่าทดแทนของสามีและภริยาไว้ต่างกันด้วยถ้อยคำที่จำกัดเพศ คือ ฝั่งสามีสามารถเรียกค่าทดแทนได้จาก ‘ผู้ซึ่งล่วงเกินภริยา’ ขณะที่ฝั่งภริยาเรียกค่าทดแทนได้จาก ‘หญิงที่เข้ามามีสัมพันธ์กับสามี’ เท่านั้น ทั้งนี้ ในกฎหมายสมรสเท่าเทียมแก้ไขเป็น ‘ผู้ซึ่งล่วงเกินคู่สมรส’ แทนคำที่ระบุเพศ เท่ากับว่าสามารถฟ้องชู้ได้โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องเพศอีกต่อไป
สิทธิด้านการเงิน ทรัพย์สิน และภาษี
● จัดการสินสมรสร่วมกันได้ ถ้าคู่สมรสไม่ได้ทำสัญญาเรื่องทรัพย์สินไว้ก่อนสมรส จะใช้หลักการการจัดการทรัพย์สินตามกฎหมายเดิม คือ แยกประเภทเป็น ‘สินส่วนตัว’ และ ‘สินสมรส’ โดยสินส่วนตัว สามารถจัดการได้ตามปกติ แต่สินสมรสถือเป็นเจ้าของร่วมกันและต้องจัดการทรัพย์สินร่วมกัน (ในการจัดทรัพย์สินใดๆ ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส)
● มีสิทธิรับมรดกของคู่สมรส ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต ให้คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย (ไม่ต้องเสียภาษีมรดก) ยกเว้นผู้ตายได้ทำพินัยกรรมเป็นอย่างอื่นไว้
● ลดหย่อนภาษีคู่สมรส (ที่ไม่มีรายได้) ใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท ต่อปี และเงินที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาจากคู่สมรส ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษี ไม่ต้องเอามาคำนวณรวมเป็นเงินได้บุคคลธรรมดา
สิทธิด้านการรักษาพยาบาล
● ให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาลคู่สมรสได้ ถ้าผู้ป่วยอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถให้ความยินยอมได้ คู่สมรสไม่ว่าเพศใดจะเป็นทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย สามารถให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาลคู่สมรสได้
● รับประโยชน์ตามสิทธิจากประกันสังคมในฐานะคู่สมรสได้ เช่น เงินค่าทดแทน เงินบำเหน็จชราภาพ เงินสงเคราะห์กรณีคู่สมรสเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม สิทธิดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างที่ยกขึ้นมาบอกเล่า อาจไม่ได้ครอบคลุมการแก้ไขกฎหมายและเงื่อนไขทั้งหมด และในบางกรณี อาจยังไม่ได้รับสิทธิทันที ต้องรอการเสนอแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมต่อไป
วิธีการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ต้องจดทะเบียนได้ที่ไหน?
● สามารถจดทะเบียนสมรสได้ที่สำนักงานเขตในกรุงเทพฯ และที่ว่าการอำเภอในต่างจังหวัด
● สำหรับผู้ที่อยู่ต่างประเทศ สามารถจดทะเบียนได้ที่สถานทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่

เคลียร์ให้ชัด เรื่องประกันสำหรับคู่สมรสเพศเดียวกันหลังสมรสเท่าเทียม
เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมรับรองสิทธิของคู่สมรส (เท่าเทียม) ในด้านต่างๆ แล้ว บริษัทประกัน ก็พร้อมสนับสนุนความเท่าเทียมกันของทุกเพศ เพื่อให้สิทธิในการทำประกันและรับประโยชน์ครอบคลุมทุกคน ดังนี้
● ใส่ชื่อคู่สมรสเป็นผู้รับผลประโยชน์ได้ (แม้จะไม่ได้จดทะเบียนสมรส) และไม่ต้องแสดงเอกสารแสดงความเกี่ยวข้องกัน (หรือเอกสารพิสูจน์ความสัมพันธ์) โดยไม่ว่า ‘ผู้รับประโยชน์’ กับ ‘ผู้เอาประกัน’ จะเป็นเพศเดียวกัน หรือ ต่างเพศ บริษัทจะพิจารณาเงื่อนไขการรับประกันอย่างเท่าเทียมกัน
● สามารถระบุความสัมพันธ์ของผู้รับประโยชน์เป็น ‘คู่สมรส/คู่ชีวิต’ แทน ‘สามี-ภรรยา’ และเพิ่มคำว่า ‘บุพการี’ เข้ามาในการระบุความสัมพันธ์ของผู้รับประโยชน์ โดยคำว่า บิดา-มารดา ยังสามารถใช้ได้อยู่
สำหรับเงื่อนไขเรื่องการระบุเพศ บริษัทมีความจำเป็นต้องชี้แจงว่าการบันทึกข้อมูลในระบบยังอ้างอิงตาม ‘เพศกำเนิด’ จากบัตรประชาชนของผู้เอาประกันอยู่ เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตและอัตราการเจ็บป่วยที่ต่างกันของแต่ละเพศ จะส่งผลต่อค่าเบี้ยที่แตกต่างกันไปด้วย
● อัปเดตสถานะเป็น คู่สมรส หรือ เปลี่ยนชื่อผู้รับประโยชน์ หรือ เปลี่ยนความสัมพันธ์ของผู้รับประโยชน์ได้ ไม่ต้องยื่นเอกสารเพิ่ม กรณีที่ทำประกันไปก่อนหน้านี้
● ประกันแบบไหนๆ ก็ให้ความคุ้มครองครอบคลุมทุกคน โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศ ยกเว้น การซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมบางแบบที่ระบุเพศกำเนิด เช่น ความคุ้มครองมะเร็งปากมดลูก ซื้อได้เฉพาะเพศกำเนิดหญิง เป็นต้น
● สิทธิลดหย่อนประกันของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ ถ้าคู่สมรสมีการประกันชีวิตและความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ มาหักลดหย่อน ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท (โดยกรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป และต้องเป็นบริษัทประกันในประเทศไทยเท่านั้น)
โดยคู่สมรสที่สนใจแผนประกันชีวิต เพื่อวางแผนอนาคตทางการเงิน เมื่อกฏหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้แล้ว สามารถดูรายละเอียดในส่วนของ แผนประกันชีวิต จาก อลิอันซ์ อยุธยา อีกหนึ่งตัวช่วยในการสร้างความมั่นคงให้กับคนข้างหลังอย่างมีประสิทธิภาพ และคลายกังวลเรื่องภาษี คลิกที่นี่
หมายเหตุ ลูกค้าควรทำความเข้าใจในรายละเอียด ความคุ้มครองและเงื่อนไข ก่อนตัดสินใจสมัครทำประกันภัย
อ้างอิงข้อมูล:
- www.ilaw.or.th/articles/43563
- พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567