ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ล้วนมีต้นเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ ดังนั้น การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนนั้น ต้องมุ่งที่การปรับพฤติกรรมและเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ อลิอันซ์ อยุธยา จึงให้ความสำคัญ กับการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงาน ผู้เกี่ยวข้อง และบุคคลทั่วไป ให้มีพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
Shape new environmentally friendly behaviour
สำหรับแนวทางการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อลิอันซ์ อยุธยา ให้ความสำคัญกับการลดการใช้ทรัพยากรที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ การลดการใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำ การใช้กระดาษ การเดินทาง และการลดการสร้างขยะ ซึ่งนอกจากจะดำเนินการผ่านการส่งเสริมสร้างจิตสำนึกในกลุ่มพนักงานแล้ว ยังมีการพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อลดการใช้ทรัพยากร พร้อมชดเชยการใช้พลังงานไฟฟ้า ด้วยการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนผ่านการซื้อใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน หรือ RE100 (Renewable Energy)
 
อลิอันซ์ อยุธยา ยังให้ความสำคัญกับการจัดการขยะ เพราะ “ขยะ” ถือเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สร้างผลกระทบมากมายในหลายมิติ ทั้งมลพิษทางน้ำ ดิน และอากาศ ซึ่ง “ปัญหาขยะ” ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถือเป็นปัญหาที่ “ทุกคน” คือส่วนหนึ่งของต้นเหตุ ขยะจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทุกคน ดังนั้น การแก้ปัญหาขยะ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน อลิอันซ์ อยุธยา จึงมุ่งมั่นในการสร้างสำนึกในการทิ้งขยะในกลุ่มพนักงาน ด้วยความเชื่อที่ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องขยะ ไม่ใช่เรื่องของจิตอาสาแต่เป็นจิตสำนึกที่ทุกคนพึงมี นอกจากนี้ อลิอันซ์ อยุธยา ยังมีความตั้งใจที่จะขยายผลและส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระดับชุมชนด้วย
สถานีแยกขยะ (Waste Sorting Station)

สถานีแยกขยะ (Waste Sorting Station)

สถานีแยกขยะ เป็นหนึ่งในความตั้งใจของ อลิอันซ์ อยุธยา ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการทิ้งขยะของพนักงาน และสร้างวัฒนธรรมใหม่คือการแยกขยะให้เกิดขึ้นในองค์กร เพื่อส่งเสริมให้การแยกขยะกลายเป็นนิสัย และเป็นพฤติกรรมปกติของพนักงานอลิอันซ์ อยุธยา ด้วยเป้าหมายการลดขยะไปบ่อฝังกลบจากพนักงานให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ สถานีแยกขยะ ตั้งขึ้น เพื่อรองรับขยะที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวันของพนักงาน ซึ่งจำแนกขยะเป็น 4 ประเภทหลักตามแนวทางการจัดการขยะของ อลิอันซ์ อยุธยา ได้แก่

1) ขยะเศษอาหาร - จัดการโดยส่งต่อไปที่เครื่องย่อยเศษอาหาร เพื่อเปลี่ยนเป็นอาหารบำรุงพืชและนำมาแจกจ่ายกลับคืนให้พนักงาน และชุมชนข้างเคียง

2) ขวด กระป๋อง - จัดการโดยส่งต่อให้ผู้รับซื้อขยะรีไซเคิลในชุมชน

3) ขยะพลาสติกสะอาด - จัดการโดยนำมาคัดแยกเป็นกลุ่มพลาสติกยืด และพลาสติกแข็ง ส่งต่อเข้าให้บริษัทรับขยะรีไซเคิล เพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดการที่เหมาะสมต่อไป

4) ขยะกำพร้า หรือขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ ที่แยกเศษอาหารแล้ว - จัดการโดยส่งต่อไปเป็นเชื้อเพลิงขยะเพื่อสร้างพลังงานทดแทนการใช้ถ่านหิน

สำหรับขยะที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเอกสารข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งจะแยกจัดการด้วยการส่งไปทำลายและเข้าสู่กระบวนการจัดการขยะที่เหมาะสมต่อไป สำหรับอุปกรณ์ที่เสื่อมสภาพหรือเลิกใช้งานจะมีการคัดแยกและส่งต่อไปยังหน่วยงานที่มีความต้องการหรือเข้ากระบวนจัดการขยะต่อไป

ดังนั้น ที่ อลิอันซ์ อยุธยา จึงไม่มีถังขยะสำหรับ “ขยะทั่วไป” เพราะเราเชื่อว่าขยะทุกชิ้นมีทางไปต่อ โดยไม่ควรต้องส่งไปที่บ่อฝังกลบ

กิจกรรมธนาคารขยะรีไซเคิล (Eagle Waste Bank)

กิจกรรมธนาคารขยะรีไซเคิล (Eagle Waste Bank)

กิจกรรมส่งเสริมให้พนักงานและคนทั่วไปแยกขยะรีไซเคิลที่บ้าน แล้วนำมาส่งต่อให้กับ รีไซเคิล เดย์ สัญจร ที่ อลิอันซ์ อยุธยา สำนักงานใหญ่ เพื่อแลกเป็นคะแนนสะสม และรับของใช้ต่าง ๆ

กิจกรรมนี้ มุ่งหวังให้ปริมาณขยะไปบ่อฝังกลบลดลง โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง อลิอันซ์ อยุธยา และ รีไซเคิล เดย์ ที่ต้องการให้พนักงานตระหนักถึงคุณค่าของขยะ และใส่ใจในการทิ้ง โดยขยะที่นำมาส่งต่อนั้น ต้องเป็นขยะที่สะอาดไม่ปนเปื้อนเศษอาหาร และแยกเป็นประเภท ซึ่งกิจกรรมนี้ กำหนดจัดขึ้นในทุกไตรมาส
โครงการ มาหามิตร (Alliance for Sustainability)

โครงการ มาหามิตร (Alliance for Sustainability)

อลิอันซ์ อยุธยา เชื่อว่าความยั่งยืนไม่สามารถสร้างคนเดียวได้ จึงได้เกิดแนวคิดขยายความร่วมมือ หาเพื่อนร่วมทางมาลงมือทำ ร่วมกันสร้าง และต่อยอดเรื่องดีดีเพื่อนำไปสู่การส่งเสริมความยั่งยืนร่วมกัน ภายใต้ชื่อกลุ่ม “มาหามิตร”

กลุ่ม ‘มาหามิตร’ ได้เริ่มขึ้นในปี 2565 โดย อลิอันซ์ อยุธยา ได้ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการ Chula Zero Waste, เอ็ม บี เค จำกัด มหาชน, โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จับมือกันเป็น “พันธมิตรเพื่อความยั่งยืน” (Alliance for Sustainability) ขึ้น และในเวลาต่อมาได้มีการขยายความร่วมมือไปยังกลุ่มสยามกลการ และหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย
โครงการปทุมวัน Zero Waste

โครงการปทุมวัน Zero Waste

โครงการที่เกิดจากความตั้งใจของกลุ่มมาหามิตร ริเริ่มในปี 2566 นำโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการ Chula Zero Waste ร่วมกับ อลิอันซ์ อยุธยา, เอ็ม บี เค จำกัด มหาชน, โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ และสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้เขตปทุมวันเป็นเขตที่ไร้ขยะไปบ่อฝังกลบ โดยกลุ่มมาหามิตร จะขับเคลื่อนรณรงค์การแยกขยะทั้งภายในองค์กร พื้นที่ที่ดูแล พร้อมสนับสนุนส่งเสริมให้หน่วยงานและชุมชนในพื้นที่โดยรอบเห็นความสำคัญและมาร่วมแยกขยะ ซึ่งกลุ่มมาหามิตรพร้อมเป็นต้นแบบให้หน่วยงานที่สนใจมาศึกษาดูงาน

จากโครงการนี้ อลิอันซ์ อยุธยา ได้เชิญชวนผู้ประกอบการและร้านค้าโดยรอบสำนักงานใหญ่ ให้เริ่มต้นการแยกขยะด้วยการแยกขยะเศษอาหาร และนำมาจัดการที่เครื่องย่อยเศษอาหารของ
อลิอันซ์ อยุธยา ที่ตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่
นิทรรศการ The End is Coming จุดจบของโลก ... บนจุดชมวิวภูเขากองขยะ

นิทรรศการ The End is Coming จุดจบของโลก ... บนจุดชมวิวภูเขากองขยะ

นิทรรศการที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักเรื่องปัญหาขยะผ่านงานศิลปะและการแสดง โดยนิทรรศการนี้ ต้องการสะท้อนให้เห็นถึง “ความเห็นแก่ตัวของคน” ที่ต่างคิดเฉพาะในมุมผลประโยชน์และความต้องการของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งนำมาสู่ปัญหาใหญ่ ซึ่งก็คือปัญหาขยะล้นเมือง ที่ยากจะแก้ไข

นิทรรศการนี้เป็นนิทรรศการชั่วคราว ที่อลิอันซ์ อยุธยา ตั้งใจจัดขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท รีไซเคิล เดย์ จำกัด ในการสนับสนุนขยะที่นำมาจัดแสดงในงาน ซึ่งภายหลังการจัดงาน ขยะทุกชิ้นได้ถูกส่งกลับไปยัง รีไซเคิล เดย์ เพื่อเข้ากระบวนการจัดการที่เหมาะสมต่อไป
นิทรรศการ THINK ทิ้ง ... ชีวิต งานที่อยากมาตะโกนบอกคุณให้ “เลิก-เท-รวม”

นิทรรศการ THINK ทิ้ง ... ชีวิต งานที่อยากมาตะโกนบอกคุณให้ “เลิก-เท-รวม”

อีกหนึ่งงานที่เกิดจากความตั้งใจของกลุ่มมาหามิตรที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง และต้องการสร้างพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นเป็นวงกว้างในสังคม

อลิอันซ์ อยุธยา ได้ร่วมกับกลุ่มมาหามิตรและพันธมิตรด้านการจัดการขยะ จัดงาน THINK ทิ้ง ... ชีวิต ขึ้น ด้วยแนวคิดการใช้ศิลปะและกิจกรรมมาสร้างแรงบันดาลใจ สู่การตระหนักคิด สร้างจิตสำนึก และเปลี่ยนแปลงสู่พฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของคนเมือง

ความตั้งใจของการจัดงานครั้งนี้ คือการที่ อลิอันซ์ อยุธยา อยากมาบอกให้ทุกคน “เลิกมักง่ายเถอะ” “มาแยกขยะกันเถอะ” เพราะปัญหาขยะจะไม่มีวันแก้ได้ ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ช่วยกัน โดยภายในงานนอกจากจะทำให้ผู้ร่วมงานเห็นปัญหา รู้ข้อเสียของการเท-รวมแล้ว ยังมีการให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะ พร้อมนำเสนอตัวช่วยที่จะมาสร้างมูลค่าให้ขยะที่ได้รับการแยก ตลอดจนทางเลือกใหม่ ๆ ในการลดการสร้างขยะ โดยเฉพาะขยะเสื้อผ้า ผ่าน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่

1) ห้องเปลี่ยนใจ โรงหนังโรงเล็กที่บอกเล่าเรื่องราวการทำงานของพนักงานเก็บขยะ อาชีพที่หลายคนมองข้าม

2) กิจกรรม ทิ้ง ... ชีวิต กิจกรรมที่ให้ผู้ร่วมงานรับบทเป็นพนักงานเก็บขยะ พร้อมสัมผัสประสบการณ์ความลำบากและการเสี่ยงอันตรายจากการจัดการขยะที่ถูกเท-รวม และจบกิจกรรมด้วยการให้ผู้ร่วมงานได้ทดลองแยกขยะตามแบบฉบับของดอยตุง และเรียนรู้วิธีจัดการขยะเศษอาหารในรูปแบบต่าง ๆ 

3) ทางเลือกคนกรุง ตัวช่วยที่จะมาเปลี่ยนให้ขยะของคุณมีมูลค่าขึ้นมา

4) ตลาดแลกเปลี่ยนแฟชั่น อีกทางเลือกสำหรับคนชอบแต่งตัว แบบไม่ให้เสื้อผ้าไม่ล้นตู้ และลดการสร้างขยะเสื้อผ้า ที่เป็นขยะอีกประเภทที่จัดการยากที่สุด