จัดพอร์ต ยูนิตลิงค์ (Unit Linked) อย่างไร ให้ปลอดภัยและมั่นใจได้ระยะยาว

          เพราะการปรับพอร์ตการลงทุนที่บ่อยมากจนเกินไปนั้น หากเป็นการลงทุนในกองทุนรวมโดยทั่วไป สิ่งที่ตามมาก็คือค่าธรรมเนียมการซื้อหรือขายที่เกิดขึ้น ส่วนยูนิตลิงค์ แม้จะมีจำนวนการทำธุรกรรมสับเปลี่ยนกองทุนที่ยกเว้นค่าธรรมเนียมจำนวนหนึ่งอยู่แล้วก็ตาม แต่ถึงอย่างนั้นการสับเปลี่ยนกองทุน หรือการปรับพอร์ตที่บ่อยมากเกินไปเป็นเรื่องที่ไม่แนะนำนักเพราะธรรมชาติของยูนิตลิงค์ คือการลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะยาวมากกว่าการทำกำไรจากการลงทุนในช่วงสั้นๆ

          อีกทั้ง การปรับพอร์ตการลงทุนบ่อยๆ มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้พอร์ตดีขึ้นและแย่ลงพอๆ กัน การปรับพอร์ตที่ถี่มาก อาจทำให้การศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบในช่วงเวลานั้นๆ ได้ไม่ดีพอ และนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดได้

          อีกส่วนคือ การศึกษาเพื่อตัดสินใจในเรื่องใหญ่และลึกอย่างการลงทุนต้องใช้เวลาและความทุ่มเทที่สูง เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับผลลัพธ์ที่ดี ซึ่งในกรณีนี้ การที่นักลงทุนใช้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อให้ผลตอบแทนเติบโต เทียบกับการลงทุนที่ปล่อยให้ Asset Allocation และเวลาช่วยทำงานไป (แต่กลับมาตรวจสอบสม่ำเสมอ) อย่างหลังมักจะเป็นการใช้เวลาที่คุ้มค่ากว่าเมื่อเทียบกัน

          การจัดสรรสินทรัพย์การลงทุน หรือ Asset Allocation ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนมีโอกาสไปถึงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น เพราะ Asset Allocation มีเป้าหมายหลักคือการลดความเสี่ยง ซึ่งในกรณีเลวร้ายที่สุด รที่นักลงทุนต้องเผชิญกับช่วงเวลาแห่งความผันผวน นักลงทุนที่ใช้หลักการ Asset Allocation ก็จะมีโอกาสที่จะเผชิญกับผลขาดทุนหรือ ความผันผวนที่ลดลง และช่วยให้นักลงทุนอยู่กับพอร์ตการลงทุนได้ยาวนานมากขึ้น เพิ่มโอกาสการได้ผลตอบแทนมากยิ่งขึ้น เพราะท้ายที่สุด การขาดทุนจากการลงทุนอาจเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราวในตลาด แต่หากอยู่กับการลงทุนได้นานพอ ก็จะมีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนมากกว่า เพราะเศรษฐกิจที่เติบโตอยู่เสมอช่วยผลักดันสินทรัพย์ต่างๆ ให้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนเป็นบวกในระยะยาว

          แต่ถึงอย่างนั้น หากกระจายการลงทุนเพียงอย่างเดียว พอร์ตการลงทุนของเราก็อาจจะดู ‘น่าเบื่อ’ หรือ ‘ไม่เซ็กซี่’ สักเท่าไหร่ ยิ่งในปัจจุบันที่ยูนิตลิงค์ในฐานะอุปกรณ์การลงทุนได้พัฒนาไปอย่างมากในตลาดกองทุนไทย ส่งผลให้มีกองทุนที่มีความเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกองทุนแบบ Thematic ที่มีเสนอขายเป็นจำนวนมาก ให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนตามความอินหรือความชื่นชอบส่วนตัว ซึ่งความอินหรือความชื่นชอบส่วนตัว จะเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะช่วยให้นักลงทุนอยู่กับพอร์ตการลงทุนได้ยาวนานมากยิ่งขึ้น เพราะการได้ลงทุนในสินทรัพย์ หรือธุรกิจที่เรามีความสนใจ มีความชื่นชอบเป็นพิเศษ ก็ยิ่งทำให้เราอยากเอาใจช่วยหรือติดตามการลงทุนนั้นๆ มากขึ้น

          โดยที่การลงทุนแบบธีม นอกจากจะช่วยให้นักลงทุนได้เลือกธีมที่ชอบธีมที่อินแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ตามมาก็คือ โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น จากความเฉพาะเจาะจงที่มากขึ้น ซึ่งหากธีมที่เชื่อ ธีมที่ชอบนั้นสามารถเติบโตได้ตามความคาดหวังจริง ก็จะไม่มีหุ้นอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องมาฉุดรั้งผลตอบแทนไว้

          แต่แน่นอนว่า เมื่อโอกาสได้รับผลตอบแทนมีมากขึ้น โดยมากแล้วความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน เพราะความเฉพาะเจาะจงอาจทำให้ได้รับประโยชน์แต่เพียงอุตสาหกรรมเดียว แต่ก็อาจเป็นไปในทางตรงกันข้ามได้ ดังเช่นกรณีของหุ้นกลุ่มสุขภาพสหรัฐฯ (Healthcare) ที่มักมีนโนบายควบคุมราคายาเข้ามากดดันอยู่เสมอ

          ดังนั้นแล้ว หัวใจสำคัญก็คือ การรักษาสมดุลเอาไว้ให้ดีระหว่างการลงทุนตามความอิน เพื่อรับโอกาสการเติบโตที่ดีตามความชอบ แต่ไม่ใช่การตัดวิธีกระจายการลงทุนทิ้งไปโดยสิ้นเชิง เพื่อให้มั่นใจว่าแนวการลงทุนที่เราชอบ และศึกษานั้นจะให้ผลตอบแทนต่อพอร์ตได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ไม่เพิ่มความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนมากเกินไป

          กลับกัน หากไม่มั่นใจมากนัก อาจใช้การกระจายการลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายลงทุนโดยกว้าง เช่น กองทุนหุ้นทั่วโลก กองทุนตราสารหนี้ทั่วโลก กองทุนหุ้นเอเชีย กองทุนตราสารหนี้เอเชีย ที่ไม่เฉพาะเจาะจงลงมากจนเกินไป เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่ว่าการลงทุนแนวไหนให้ผลตอบแทนที่ดี เราก็จะมีโอกาสได้ผลประโยชน์เสมอ

เพื่อเห็นภาพชัดมากยิ่งขึ้นในการลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง หรือแบบ Thematic ขอนำเสนอหลักการคร่าวๆ ด้วยเกณฑ์ 2 ข้อง่ายๆ คือ

● คุมความอ้วนของธีม ไม่ควรมีน้ำหนักของกองทุนหุ้นซึ่งเป็นสินทรัพย์เสี่ยง แบบเฉพาะเจาะจง หรือ Thematic มากจนเกินไป ที่ประมาณ 30% ของพอร์ตทั้งหมด เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว อาจทำให้พอร์ตการลงทุนเสี่ยงสูงมากจนเกินไป
● จัดสรรตามความเชื่อและชื่นชอบ
○ ชอบ/เชื่อมากลงทุน 6-7% พอร์ตต่อธีม
○ กลางๆ เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง 5% พอร์ต
○ ชอบ/เชื่อน้อย แต่อยากลอง ลงทุนแค่ 3-4% พอร์ตต่อธีม

          นอกจากนี้ คำถามสำคัญที่มักตามมาต่อเนื่องจากการกระจายการลงทุนก็คือ แล้วเลือกกองทุนอย่างไรให้เหมาะสมกับตนเอง ในที่นี้สามารถแบ่งออกได้โดยง่าย 3 แบบด้วยกันคือ

เน้นค่าธรรมเนียมถูก แต่กองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามสิ่งที่ชอบ จะแนะนำให้เลือกกองทุน Passive ซึ่งหมายถึงการบริหารแบบตั้งใจให้ผลตอบแทนของกองทุนนั้นๆ ล้อไปกับดัชนีเปรียบเทียบ จุดเด่นคือค่าธรรมเนียมที่ถูก ลดโอกาสการ underperform หรือให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าในระยะยาว แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสีย เพราะกองทุนต้องการเพียงเคลื่อนไหวล้อไปกับดัชนีเปรียบเทียบเท่านั้น ทำให้โอกาสที่จะ Outperform หรือให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าย่อมเกิดขึ้นได้ยาก
อยากเอาชนะ เลือกกองทุน Active กองทุนประเภทนี้ มีจุดประสงค์หลักคือ การทำผลตอบแทนให้เหนือกว่า เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ หากผู้จัดการกองทุน สามารถทำตามจุดประสงค์นั้นได้ กองทุนก็จะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า แต่แน่นอนว่าก็มีโอกาสอีกเช่นกันที่ผู้จัดการกองทุนอาจทำพลาด หรือลงทุนไม่ถูกจังหวะ ก็อาจ Underperform หรือให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าดัชนีเปรียบเทียบได้เช่นกัน เนื่องจากกองทุนกลุ่มนี้จะมีการศึกษาและวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งกว่า ทำให้กองทุนกลุ่มนี้มีแนวโน้มค่าธรรมเนียมที่สูงกว่า และหากกองทุน Underperform อาจส่งผลลบต่อผลตอบแทนในระยะยาวได้ถึง 2 ต่อเลยทีเดียว ดังนั้นการเลือกกองทุน Active นี้จึงเหมาะกับนักลงทุนที่อาจศึกษาข้อมูลมามากกว่า หรือรับความเสี่ยงได้มากกว่า
สายสมดุล คือการเลือกกองทุนที่มีความ Active แต่เคลื่อนไหวคล้ายคลึงกับดัชนีเปรียบเทียบที่เราชอบอยู่ ซึ่งสามารถสังเกตได้จาก การคัดเลือกสินทรัพย์เข้าลงทุน จะมีสัดส่วนใกล้เคียงกับดัชนีเปรียบเทียบมาก จะผิดเพี้ยนไปจากดัชนีเปรียบเทียบน้อย เพื่อให้มั่นใจว่ากองทุนจะเคลื่อนไหวคล้าย แต่มีโอกาสเอาชนะได้

          เมื่อเราผ่านการจัดพอร์ตตามความชอบ เลือกกองทุนที่เหมาะสมกับตนเองแล้ว สำคัญต่อมาก็คือ การ Rebalance และการ Revisit เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพอร์ตจะเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

          การ Rebalance คือการปรับสัดส่วนการลงทุนให้กลับสู่สิ่งที่ตั้งใจไว้เสมอ เช่น กำหนดให้กองทุนหุ้นทั้งหมดนั้นมีสัดส่วนที่ 60% ของพอร์ต และกองทุนตราสารหนี้ 40% ของพอร์ต แต่เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี ผลปรากฏว่ากองทุนหุ้นให้ผลตอบแทน 20% ขณะที่กองทุนตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนเพียง 2% จะส่งผลให้สัดส่วนการลงทุนนั้นผิดเพี้ยนไปจากที่ตั้งใจเอาไว้ กลายเป็น 63.8% และ 36.2% ตามลำดับ ผู้ลงทุนควรที่จะขายส่วนที่เกินออก และเข้าไปซื้อในส่วนที่ขาดแทน เพื่อให้สัดส่วนของกองทุนหุ้นนั้นกลับมาสู่ระดับที่ตั้งใจไว้อีกครั้ง และไม่ให้เป็นการรับความเสี่ยงมากเกินไป หรือในกรณีตรงกันข้าม หากกองทุนหุ้นขาดทุนมาก ก็จะเป็นการเกลี่ยจากกองทุนตราสารหนี้เข้าลงทุนในกองทุนหุ้นที่ขาดทุนหนักกว่า ซึ่งเป็นการถัวเฉลี่ยต้นทุนได้

           ส่วนการ Revisit คือการติดตามสถานการณ์ของสินทรัพย์ หรือกองทุนที่ลงทุนว่ายังมีอนาคต หรือมีโอกาสเติบโตหรือไม่ เช่น พิจารณาจากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ในระยะยาว พิจารณาจากแนวโน้มไลฟ์สไตล์ของประชาชนว่าเหมาะสมกับธีมที่เราเลือกหรือไม่ เมื่อเห็นภาพแล้วว่ายังเหมาะสม ยังมีโอกาสการเติบโต ก็สามารถลงทุนต่อได้ แต่หากพิจารณาแล้วว่าโอกาสเติบโต โอกาสให้ผลตอบแทนนั้นมีน้อย หรือไม่มี ก็อย่ารอช้าในการปรับเปลี่ยนสัดส่วน เพื่อป้องกันการถือครองสินทรัพย์ในระยะยาวในพอร์ต

          ซึ่งการ Rebalance และ Revisit นั้น หากให้กล่าวโดยละเอียดแล้ว มีหลากหลายวิธีการด้วยกัน แต่โดยง่ายอาจใช้เกณฑ์ระยะเวลาเข้ามาช่วย เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการดูแลก็สามารถทำได้ โดยระยะเวลาที่เหมาะสมนั้นอาจแนะนำที่ปีละ 2 ครั้ง หรือ ทุกๆ ครึ่งปีนั่นเอง เพื่อที่จะได้ไม่เป็นการปรับพอร์ตการลงทุน ทั้งในแง่ของ Rebalance หรือ ปรับเปลี่ยนสินทรัพย์ที่บ่อยมากจนเกินไป

          เท่านี้พอร์ตการลงทุนของเราก็มีโอกาสเติบโตได้ ตามความชอบ ความใช่ ตามที่ใจเราต้องการ ในระยะยาวอย่างมั่นคง

          ใครที่กำลังมองหา ประกันยูนิตลิงค์ (Unit link) หรือประกันชีวิตควบการลงทุน จาก อลิอันซ์ อยุธยา ที่ให้คุณเลือก และปรับเปลี่ยนความคุ้มครองได้ตามจังหวะชีวิต พร้อมคุ้มครองชีวิต แม้หยุดพักชำระเบี้ย ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก

Apologies, we are currently unable to handle your request. Please try again.

Enter the text from the box. 60 seconds remaining. Can't read the text? Reload text

Form sent successfully.